จากความต้องการของราษฎรและเจ้าหน้าที่ปกครองต้องการจะให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีการชลประทานแบบที่กระทำอยู่ในภาคกลางและภาคเหนือ รัฐบาลจึงได้สั่งให้กรมชลประทานเปิดการชลประทานขึ้นในภาคนี้
โดยเริ่มสำรวจสภาพน้ำและสภาพภูมิประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาวางโครงการ
ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 และเริ่มงานก่อสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามความเรียกร้องของราษฎรไปก่อน
ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 เป็นต้นมา
ที่ตั้งที่ทำการชลประทานครั้งแรก ตั้งอยู่ที่ถนนโพธิ์กลาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง
จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ทำการของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง
ระยะแรกได้เริ่มก่อสร้างโครงการชลประทานขึ้นพร้อมกัน จำนวน 8 โครงการ แยกเป็น
โครงการชลประทาน ประเภทเหมืองฝาย 5 โครงการ ได้แก่ โครงการลำตะคอง , โครงการทุ่งสัมฤทธิ์
จังหวัดนครราชสีมา, โครงการห้วยเสนง จังหวัดสุรินทร์ , โครงการห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี
, โครงการห้วยน้ำหมาน จังหวัดเลย และเป็นโครงการชลประทานประเภทคันกั้นน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัย
3 โครงการ ได้แก่ โครงการบ้านตูม - บ้านติ้ว จังหวัดมหาสารคาม , โครงการทุ่งแซงบาดาล
จังหวัดร้อยเอ็ด และโครงการลุ่มน้ำโขง จังหวัดหนองคาย โดยมี พระธุระนทีทด ( พ.ศ.2477
- พ.ศ.2485 ) , นายเฉบียว ทองอุทัย ( พ.ศ 2485 - พ.ศ.2490 ) และนายจันทร์ วิเชียรทวี
(พ.ศ.2490 - พ.ศ.2493 ) ทำหน้าที่หัวหน้าโครงการก่อสร้างอีสานตามลำดับ ต่อมาสงครามโลกครั้งที่
2 ทำให้งานก่อสร้างทั้ง 8 โครงการ ดังกล่าวต้องชะลอไว้ยังไม่แล้วเสร็จ
หลังจากสงครามโลกครั้งที่
2 สงบลงแล้ว ในปี พ.ศ.2494 กรมชลประทานได้เริ่มงานก่อสร้างโครงการชลประทานประเภทอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากโครงการชลประทานประเภทนี้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
ในการอุปโภค-บริโภค และ การเกษตรกรรมของราษฎรได้ นายจำลอง อัตนโถ เป็นบุคคลแรกหลังสงครามโลกครั้งที่
2 ที่กรมชลประทาน ส่งมาดำรงตำแหน่งนายช่างพิเศษชลประทานด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
(ชพด.) ในช่วง พ.ศ.2493 - พ.ศ.2509 ทำให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างจริงจังกระจายไปทั่วทั้งภาค
เริ่มแต่บัดนั้นเป็นต้นมา งานก่อสร้างโครงการชลประทานประเภทเหมืองฝายและประเภท
คันกั้นน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัยทั้ง 8 โครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 ก็แล้วเสร็จสมบูรณ์ในช่วงนี้
ในปี พ.ศ.2499 ที่ทำการชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ 905
ถนนสืบศิริ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการของ
สำนักงาน ชลประทานที่ 8 (สำนักงานชลประทานที่ 6 เดิม) ปัจจุบันนี้ผู้ดำรงตำแหน่งนายช่างพิเศษชลประทานด้านตะวันออกเฉียงเหนือต่อจาก
นายจำลอง อัตนโถ คือ นายพีระ วัฒกานนท์ (พ.ศ.2509 - พ.ศ.2514) นายลาภ ตัณฑศรี
(พ.ศ.2514 - พ.ศ.2518) ตามลำดับ งานชลประทานในระยะนี้ ส่วนใหญ่เน้นหนักไปในด้านการก่อสร้างโครงการประเภทอ่างเก็บน้ำ
และการสร้างระบบส่งน้ำให้กระจายไปทั่วทั้งภูมิภาค มีการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก
7 โครงการในระหว่าง พ.ศ.2506-พ.ศ.2513 ได้แก่ โครงการลำตะคอง (สร้างเขื่อนลำตะคอง)
โครงการลำพระเพลิง จังหวดนครราชสีมา โครงการลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการน้ำพอง
จังหวัดขอนแก่น โครงการน้ำอูน จังหวัดสกลนคร โครงการโดมน้อย จังหวัดอุบลราชธานี
และโครงการห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี จนถึง พ.ศ.2518 มีโครงการประเภทอ่างเก็บน้ำและทดน้ำที่สร้างแล้วเสร็จในภาคนี้
จำนวน 170 โครงการช่วยพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 1.5 ล้านไร่ สำหรับงานด้านส่งน้ำและบำรุงรักษา
ก็เริ่ม มีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้น มีการจัดตั้งสมาคมผู้ใช้น้ำชลประทานขึ้นในโครงการชลประทานที่สร้างแล้วเสร็จ
เพื่อให้เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการชลประทาน ได้มีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาและแบ่งปันน้ำอย่างเป็นธรรม
สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่นั้น หลังจากก่อสร้างหัวงานและอาคารชลประทานบางส่วนเสร็จแล้ว
กรมชลประทานก็ได้อนุมัติให้จัดตั้ง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขึ้นมา เพื่อบริหารการจัดการน้ำชลประทานและดูแลบำรุงรักษาสืบไป
พ.ศ.2518 กรมชลประทาน ได้พิจารณาแบ่งส่วนราชการใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ
ออกเป็น 3 สำนักงาน คือ สำนักงานชลประทานที่ 4 , 5 และ 6 มีหัวหน้าสำนักงานชลประทาน
(ภายหลังเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักชลประทาน) เป็นผู้ควบคุมดูแลสำนักชลประทานที่
6 (สำนักชลประทานที่ 8 ในปัจจุบัน) มีหน้าที่รับผิดชอบการชลประทานรวม 5 จังหวัดคือ
จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ แต่ในปัจจุบันพื้นที่รับผิดชอบของสำนักชลประทานที่
8 เหลือเพียง 4 จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ
โครงการชลประทานนครราชสีมา ภายหลังการแบ่งส่วนราชการ โดยให้ขึ้นกับสำนักงานชลประทานที่
8 แล้ว มีหัวหน้าโครงการชลประทานนครราชสีมา (ชคป.นครราชสีมา) จนถึงปัจจุบัน ดังนี้
1. นายประเสริฐ สิงห์น้อย พ.ศ. 2518 - 2538
2. นายวีระพล วัชรประทีป พ.ศ. 2538 - 2540
3. นายเชลงศักดิ์ มานุวงศ์ พ.ศ. 2540 - ปัจจุบัน
ที่ตั้งโครงการ
ที่ทำการโครงการชลประทานนครราชสีมา ตั้งอยู่เลขที่ 1239 ถนนสืบศิริ อำเภอเมือง
จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ทำการสำนักชลประทานที่ 8 ถนนสืบศิริ
อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา